การตรวจคัดกรองขณะตั้งครรภ์
หมวดหมู่: สุขภาพครรภ์ | เผยแพร่เมื่อ: 26 กันยายน 2565
นับตั้งแต่ทราบว่าตั้งครรภ์ ตลอดระยะเวลาเกือบ 10 เดือนมีหลายสิ่งที่จะต้องเตรียมการเพื่อให้การตั้งครรภ์ราบรื่นปลอดภัย และไปยังจุดหมายที่ทุกท่านรอคอย คือการพบหน้าคุณลูก เมื่อมาฝากครรภ์คุณแม่จะได้รับการตรวจคัดกรองและประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ การฝากครรภ์จึงเปรียบเสมือนกับจุดตรวจความปลอดภัย เพื่อให้มั่นใจตลอดทาง
1. การตรวจเลือดขณะฝากครรภ์มีประโยชน์อย่างไร
- การตรวจเลือดขณะฝากครรภ์มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวางแผนการดูแลรักษาที่เหมาะสมระหว่างตั้งครรภ์และการวางแผนการคลอด คุณแม่จะได้รับการตรวจเลือดอย่างน้อย 2 ครั้ง ได้แก่ ในช่วงไตรมาสที่ 1 (นิยมตรวจในครั้งแรกที่มาฝากครรภ์) และในช่วงไตรมาสที่ 3
- การเจาะตรวจเลือดครั้งที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความเข้มข้นของเลือด ทราบหมู่เลือด คัดกรองผู้ที่เป็นพาหะโรคโลหิตจางที่เรียกว่าธาลัสซีเมีย รวมถึงประเมินภาวการณ์ติดเชื้อต่าง ๆ
- การตรวจเลือดขณะฝากครรภ์ครั้งที่ 2 มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการตรวจครั้งแรก เพราะจะช่วยบอกว่ามีภาวะซีดลงหรือมีภาวะการติดเชื้อเกิดขึ้นภายหลังจากการตรวจครั้งแรกหรือไม่ ซึ่งหากมีภาวะดังกล่าว ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในระหว่างการคลอดและหลังคลอดได้ คุณหมอและทีมจะได้วางแผนการดูแลรักษาที่เหมาะสมที่สุดเพื่อให้คุณแม่และคุณลูกปลอดภัย
2. หญิงตั้งครรภ์ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกหรือไม่
- การศึกษาในปัจจุบันพบว่าการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะช่วยคัดกรองผู้ที่มีความผิดปกติก่อนเป็นมะเร็งเพื่อเข้ากระบวนการดูแลรักษาก่อนที่จะพัฒนากลายเป็นมะเร็ง
- ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุตั้งแต่ 25 ปี หากยังไม่เคยตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกหรือตรวจครั้งล่าสุดนานเกินกว่าหนึ่งปีด้วยวิธี Pap smear นับเป็นโอกาสอันดีที่จะตรวจคัดกรองในระหว่างการฝากครรภ์
3. ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์คืออะไร
- หญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ได้แก่
- ผู้ที่มีน้ำหนักตัวก่อนตั้งครรภ์ตั้งแต่ 70 กิโลกรัม หรือมีค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่ 30 kg/m2 ขึ้นไป
- มีญาติสายตรง เช่น คุณพ่อ คุณแม่ คุณพี่ คุณน้อง เป็นโรคเบาหวาน
- มีประวัติเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ในครรภ์ก่อน
- เคยคลอดบุตรน้ำหนักมากกว่า 4,000 กรัม
- เคยคลอดทารกที่เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือทารกมีความผิดปกติหลายอย่าง - คุณแม่สามารถแจ้งประวัติดังกล่าวกับแพทย์ผู้ดูแลเพื่อให้แพทย์พิจารณาการตรวจคัดกรองภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์เพิ่มเติมด้วย พร้อมกับการตรวจเลือดฝากครรภ์ในไตรมาสแรก หญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์และได้รับการตรวจคัดกรองในไตรมาสแรกแล้วผลตรวจคัดกรองปกติ ยังมีความจำเป็นที่จะต้องตรวจคัดกรองซ้ำอีกครั้งในช่วงอายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์ (อยู่ในช่วงไตรมาสที่ 2) เพื่อให้มั่นใจว่าไม่ได้มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
4. การทำอัลตร้าซาวน์ในแต่ละช่วงมีประโยชน์อย่างไร
- ไตรมาสที่ 1
การทำอัลตร้าซาวน์จะช่วยยืนยันว่ามีการตั้งครรภ์ปกติในโพรงมดลูกหรือไม่ ช่วยบอกถึงอายุครรภ์และใช้คาดคะเนวันกำหนดคลอดในกรณีที่จำวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้ายได้ไม่ชัดเจน หรือมีปัจจัยที่อาจทำให้วันตกไข่คลาดเคลื่อนไปจากเดิม ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ประเมินโดยการซักประวัติประจำเดือนและประวัติการใช้ยาคุมกำเนิด นอกจากนี้การทำอัลตร้าซาวน์ในช่วงนี้ยังช่วยยืนยันว่าเป็นการตั้งครรภ์เดี่ยว หรือตั้งครรภ์แฝดหรือไม่ อย่างไรก็ดีการทำอัลตร้าซาวน์ในช่วงนี้ยังไม่สามารถระบุเพศและยังไม่สามารถประเมินความผิดปกติใหญ่ ๆ ต้องทำการตรวจประเมินอีกครั้งในช่วงไตรมาสที่ 2 - ไตรมาสที่ 2
การทำอัลตร้าซาวน์ในช่วงนี้ไม่เพียงช่วยบอกเรื่องของเพศทารกในครรภ์ แต่ยังสามารถประเมินความผิดปกติใหญ่ ๆ ได้อีกด้วย เพราะช่วงนี้เราสามารถเห็นรูปร่างและอวัยวะสำคัญของคุณลูกได้แล้ว จึงสามารถประเมินความสมบูรณ์แข็งแรงของทารกในครรภ์ได้ - ไตรมาสที่ 3
เป็นไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์การทำอัลตร้าซาวน์จะช่วยบอกถึงท่าของทารก ตำแหน่งการเกาะของตัวรก ปริมาณน้ำคร่ำ รวมถึงคาดคะเนน้ำหนักตัวของทารกในครรภ์ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่ ข้อมูลดังกล่าวอาจใช้ในการวางแผนการคลอด
5. ตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมด้วยการตรวจเลือดคืออะไร
- ดาวน์ซินโดรมเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม ซึ่งหากพบว่าทารกในครรภ์มีภาวะดังกล่าวจะส่งผลต่อระดับสติปัญญาในอนาคตรวมถึงอาจพบความพิการบางอย่างร่วมด้วย การตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม โดยการตรวจเลือด คือ การตรวจเลือดคุณแม่เพื่อประเมินโอกาสที่ทารกในครรภ์อาจมีภาวะดังกล่าว ซึ่งช่วงที่เหมาะสมในการตรวจคัดกรองภาวะนี้ ที่แนะนำจะเริ่มตั้งแต่อายุครรภ์ 15-20 สัปดาห์ อย่างไรก็ดีขึ้นกับชนิดการตรวจที่อาจส่งตรวจได้เร็วสุดตั้งแต่อายุครรภ์ 9 สัปดาห์ ทั้งนี้คุณแม่สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากแพทย์ผู้ดูแล
สงวนลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 โดย มหาวิทยาลัยขอนแก่น