อาการที่พบได้บ่อยขณะตั้งครรภ์
หมวดหมู่: สุขภาพครรภ์ | เผยแพร่เมื่อ: 13 กันยายน 2565
อาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว เวียนศีรษะ
- อาการเหล่านี้เป็นผลจากฮอร์โมนการตั้งครรภ์ที่เพิ่มมากขึ้น โดยอาจมีอาการตั้งแอตัวถึงอายุครรภ์ 5-7 สัปดาห์
- อาการจะเพิ่มขึ้นในช่วง อายุครรภ์ 9-11 สัปดาห์ และจะค่อย ๆ ลดลงและดีขึ้นช่วงหลังอายุครรภ์ 14-16 สัปดาห์ครับ
- แนะนำให้รับประทานอาหารที่ย่อยง่ายทีละน้อย ดื่มน้ำมากขึ้น นอนพักกลางวัน
- แต่หากอาเจียนมาก รับประทานไม่ได้เลย หน้ามืดเป็นลมบ่อยแนะนำให้มาพบคุณหมอนะครับ
รู้สึกอ่อนเพลีย ง่วงนอน เหนื่อยง่ายกว่าปกติ
- ในขณะที่ตั้งครรภ์ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และมีการใช้พลังงานมากขึ้น
- ในขณะที่รับประทานอาหารได้น้อยจากการแพ้ท้อง ร่วมกับนอนหลับได้ไม่เต็มที่ ทำให้รู้สึกอ่อนเพลียและเหนื่อยง่ายกว่าปกติได้
- โดยอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นหลัง 16 สัปดาห์ครับ
- แนะนำให้พักเป็นระยะ นอนพักกลางวันบ้างครับ
- แต่หากอ่อนเพลียหรือเหนื่อยมากแนะนำให้มาปรึกษาคุณหมอนะครับ
ท้องผูก ท้องอืดมากกว่าปกติ
- เนื่องจากฮอร์โมนการตั้งครรภ์ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ระบบย่อยอาหารบีบตัวลดลง เพื่อดูดซึมสารอาหารให้ทารกมากขึ้น
- ทำให้อาหารย่อยยากและมีอาการท้องอืด ท้องผูกได้
- ควรรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย เน้นผัก ผลไม้ เพิ่มขึ้น ดื่มน้ำมากขึ้น และเดินหรือออกกำลังกายเบา ๆ จะช่วยได้ครับ
- อย่ารีบเดินมากนะครับระวังการหกล้มด้วยคุณหมอเป็นห่วงครับ
- แต่หากท้องอืด ท้องผูกมาก มีริดสีดวงทวาร ปวดท้อง แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอนะครับ
อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
- เกิดจากระดับฮอร์โมนที่มีการเปลี่ยนแปลงและร่างกายของคุณแม่เปลี่ยนแปลงมาก ๆ
- ทำให้ส่งผลต่ออารมณ์ได้
- ต้องทำความเข้าใจตัวเอง และคนรอบข้างก็ควรทำความเข้าใจและให้กำลังใจกันนะครับ
อยากกินของเปรี้ยว หรืออยากกินของแปลก ๆ
- เป็นเพราะระดับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้น
- อาจทำให้การรับรู้รสชาติของแม่ที่กำลังตั้งครรภ์เปลี่ยนแปลงไป
มีตกขาวมากผิดปกติ
- เนื่องจากฮอร์โมนในร่างกายมีการปรับตัวสูงขึ้นจึงทำให้มีตกขาวในปริมาณที่มากขึ้นกว่าปกติได้ครับ
- ถ้าลักษณะของตกขาวเป็นมูกเหลวสีขาวขุ่นหรือสีครีมก็ถือว่าเป็นภาวะปกติ
- แต่ถ้าหากตกขาวมีลักษณะผิดปกติไป เช่น มีสีเขียว สีเหลือง มีกลิ่น หรือมีอาการคันร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์นะครับ เพราะอาจบ่งบอกถึงการติดเชื้อ
ปัสสาวะบ่อย
- เนื่องจากขนาดมดลูกที่ใหญ่ขึ้นไปกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ
- ปริมาณของเลือดในร่างกายมีเพิ่มขึ้น ทำให้มีเลือดผ่านไตมากขึ้น ไตจึงกรองปัสสาวะออกมามากขึ้น
- แต่หากมีอาการปัสสาวะ แสบขัด ปัสสาวะไม่สุดหรือปัสสาวะเล็ด ควรมาพบแพทย์ครับ
รู้สึกจุกเสียดลิ้นปี่หรือแสบหน้าอก
- เมื่ออาการแพ้ท้องลดลง เริ่มรับประทานอาหารได้มากขึ้น หากรู้สึกจุกเสียดลิ้นปี่หรือแสบหน้าอก อาจเป็นอาการของกรดไหลย้อนได้นะครับ
- แนะนำให้คุณแม่รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย เช่น ข้าวกล้อง รับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของโปรตีน ได้แก่ ไข่ เนื้อปลา และผักผลไม้ เพื่อลดอาการกรดไหลย้อนและป้องกันท้องผูกได้ด้วยนะครับ
- แต่ถ้ามีอาการมากผิดปกติแนะนำไปหาคุณหมอนะครับ
เต้านมมีการเปลี่ยนแปลง
- เมื่อตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนมากมาย ส่งผลให้หัวนมและลานนมมีสีเข้มหรือคล้ำขึ้น เต้านมขยายขนาดขึ้น ได้ครับ
- แนะนำให้เลือกใส่ชุดชั้นในที่ใส่สบายเหมาะกับสรีระที่กำลังเปลี่ยนแปลงนะครับ
- แต่หากมีน้ำนมไหลออกมาในช่วงตั้งครรภ์ถือว่าเป็นความผิดปกติควรปรึกษาแพทย์นะครับ
รู้สึกเหมือนลูกดิ้น
- ช่วงอายุครรภ์ 16-20 สัปดาห์ นี้มดลูกจะเริ่มอยู่สูงประมาณสะดือและควรจะรู้สึกว่าลูกดิ้นแล้วนะครับ
- ในครรภ์แรกอาจจะบอกได้ยากเพราะไม่เคยรู้สึกแบบนี้มาก่อน เวลาลูกดิ้นอาจจะรู้สึกเหมือนปลาตอด บ้างก็รู้สึกเหมือนมีอะไรกระตุกเบา ๆ
- หากคุณแม่ยังไม่รู้สึกว่าลูกดิ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจประเมินนะครับ
- เมื่ออายุครรภ์ 28 สัปดาห์เป็นต้นไป คุณหมอชวนคุณแม่มาเริ่มนับลูกดิ้นกันครับ
- การนับจำนวนครั้งที่ลูกดิ้น ช่วยบ่งบอกทางอ้อมว่าลูกมีสุขภาพดีครับ ช่วงนี้ลูกเริ่มดิ้นชัดขึ้น เรามานับจำนวนครั้งที่ลูกดิ้นกันให้ได้มากกว่า 10 ครั้งต่อวันกันนะครับ
ปวดหลัง
- เกิดจากการขยายตัวของกล้ามเนื้อที่เป็นผลมาจากมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับคุณลูก และน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ทำให้ศูนย์กลางการทรงตัวเปลี่ยนไป
- จึงควรปรับท่านอนด้วย เช่น นอนที่นอนไม่นิ่มเกินไป ไม่ใช้หมอนหนุนหลัง เปลี่ยนท่าทางบ่อยขึ้นหากต้องนั่งทำงานนาน ๆ
- หากอาการปวดมากขึ้นจนทนไม่ไหวหรือมีอาการชาที่ขาร่วมด้วย ควรปรึกษาแพทย์นะครับ
เป็นตะคริว
- เป็นผลมาจากมดลูกที่ขยายใหญ่และคุณลูก ในครรภ์ตัวโตขึ้น ทำให้มดลูกกดเบียดการไหลเวียนเลือดจากส่วนล่างของร่างกาย
- แนะนำให้ นอนพักยกขาสูง หลีกเลี่ยงการนั่งทำงานท่าเดิม ๆ นาน ๆ และออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การเดินหลังอาหารเย็นได้จะดีมาก ๆ เลยนะครับ
รู้สึกหายใจถี่ หายใจไม่อิ่ม
- เมื่อคุณลูกในครรภ์มีการเจริญเติบโตขึ้นมากก็จะมีแรงดันในท้อง ปอดและกระบังลมเพิ่มขึ้น ส่งผลให้คุณแม่มีอาการหายใจถี่ขึ้นหลังอายุครรภ์ 20 สัปดาห์และรู้สึกหายใจไม่ค่อยทั่วท้อง
- อาจจะมีอาการมากขึ้น ได้ในช่วงหลังอายุครรภ์ 32 สัปดาห์จนถึงระยะคลอดครับ
อาการหน่วง ๆ ท้อง ตึง ๆ ท้อง
- อาจเริ่มมีอาการท้องตึง ๆ หน่วงท้องน้อยร้าวไปช่องคลอดได้ในช่วงสามเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ครับ
- เป็นอาการปกติ เกิดจากมดลูกและคุณลูกน้อยเติบโตมากในช่วงนี้ อาจทำให้ปวดหน่วงและขาบวมได้ครับ
- แต่หากท้องตึงแข็งครั้งหนึ่งนานประมาณ 1 นาทีและเป็นทุก ๆ 10 นาที ให้คุณแม่สังเกตอาการเลยนะครับ หากใน 1 ชั่วโมงยังคงมีอาการอยู่ ประกอบกับ มีมูกเลือดหรือเลือดออกทางช่องคลอด ควรไปโรงพยาบาลทันทีเลยนะครับ
อาการเจ็บครรภ์
- อาการเจ็บครรภ์เตือนหรือเจ็บครรภ์จริงต่างกันอย่างไร มาดูกันครับ
- อาการเจ็บครรภ์เตือน
- รู้สึกท้องแข็งน้อยกว่าทุก 10 นาที และเจ็บไม่สม่ำเสมอ ไม่ถี่ขึ้น น่าจะเป็นการเจ็บครรภ์เตือนครับ หมั่นสังเกตอาการว่าไม่ใช่เจ็บครรภ์จริงนะครับ หากมีความกังวลควรปรึกษาแพทย์นะครับ - อาการเจ็บครรภ์จริง
- ปวดหน่วงท้องร้าวไปยังช่องคลอด ท้องแข็งตึง ทุก ๆ 10 นาที เป็นสัญญาณของการเจ็บครรภ์จริงแล้วนะครับ หากเจ็บถี่ขึ้นทุก ๆ 5-10 นาที ควรไปโรงพยาบาลนะครับ
- มีน้ำใส ๆ ไหลออกทางช่องคลอด เป็นอาการของน้ำเดินแล้วนะครับ เป็นสัญญาณของการเจ็บครรภ์จริง ให้คุณแม่ไปโรงพยาบาลทันทีเลยนะครับ
- มีเลือดออกหรือลูกดิ้นน้อยลง เป็นสัญญาณผิดปกติ คุณแม่ควรไปโรงพยาบาลทันทีเลยนะครับ เพื่อจะได้ตรวจประเมินลูกและเลือดที่ออกนะครับ - หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ อย่างใดอย่างหนึ่งให้รีบไปโรงพยาบาลทันทีเลยนะครับ
อาการที่ต้องไปโรงพยาบาลทันที
- ปวดศีรษะ ตามัว ตัวบวมขึ้น จุกแน่นใต้ลิ้นปี่ เป็นสัญญาณของครรภ์เป็นพิษ หากคุณแม่มีอาการดังกล่าวให้รีบไปพบแพทย์นะครับ
- เลือดออกทางช่องคลอด ปกติแล้วไม่ควรมีเลือดออกทางช่องคลอดเลยนะครับ หากมีเลือดออกทางช่องคลอดควรไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจประเมินนะครับ
- มีน้ำใส ๆ ไหลออกทางช่องคลอด หากมีน้ำใส ๆ ไหลออกทางช่องคลอด เป็นอาการของน้ำเดินนะครับ คุณแม่ไปโรงพยาบาลทันทีเลยครับ
- ปวดหน่วงท้อง ท้องตึงตลอดเวลา หากมีอาการปวดหน่วงท้องน้อยร้าวไปช่องคลอด ท้องแข็งตึง ทุก ๆ 10 นาที ปวดถี่หรือปวดแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ อาจเป็นอาการของการเจ็บครรภ์คลอดได้นะครับ ควรไปโรงพยาบาลทันทีเลยครับ
สงวนลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 โดย มหาวิทยาลัยขอนแก่น